จากปีที่หลายคนฝากความหวังไว้ว่า ในวันที่โควิดเริ่มจืดจาง และธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ใกล้จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยโดยรวมอาจจะเริ่มดีขึ้น? แต่ยังไม่พ้นไตรมาสแรกของปี ก็กลับได้ข่าวธนาคารในสหรัฐเริ่มล้มละลาย รวมทั้งธนาคารขนาดยักษ์ใหญ่ของยุโรปที่มีอายุกว่า 100 ปีก็กำลังจะไปไม่รอด.. เลยทำให้จากที่เริ่มมีความหวังกลับกลายเป็นความกลัวแทน…
ที่จริงแล้วการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐอย่าง Silicon Valley Bank หรือ SVB กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Credit Suisse นั้นไม่เหมือนกัน แต่ว่าปัญหาของ SVB นั้นเหมือนเป็นตัวจุดไฟให้คนกลัวว่าปัญหาอาจจะลุกลามมาถึง Credit Suisse ซึ่งมีผลการดำเนินงานในช่วงหลายปีหลังไม่ดีว่าจะโดนผลกระทบไปด้วย… แต่ในตอนนี้จะขอพูดถึงกรณีของ SVB กันก่อนนะครับ
เพราะการล้มละลายของ SVB นั้นค่อนข้างจะแปลกกว่าหลายกรณีที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแล้วเกิดปัญหา เช่น Hamburger Crisis ในปี 2008 เป็นเพราะสถาบันการเงินไปลงทุนในสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ subprime กันมากมาย แต่ในกรณีของ SVB นั้นตัวธุรกิจไม่ได้มีปัญหา และ SVB นั้นก็นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ แถมส่วนใหญ่ยังเป็นตราสารหนี้ของรัฐบาลซะด้วย? แล้วทำไมถึงเป็นเจ๊งได้?
คือความเสี่ยงของการลงทุนมีหลายรูปแบบ โดยสำหรับตราสารหนี้จะเป็นการลงทุนแบบที่นำเงินไปให้คนอื่นกู้ยืมแล้วเราได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ปกติจะถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในตราสารทุนอย่างหุ้นสามัญ เพราะในแง่สิทธิเรียกร้องหากบริษัทล้มละลาย ผู้ถือตราสารหนี้จะมีสิทธิได้รับเงินคืนก่อนผู้ถือตราสารทุน นี่เลยเป็นที่มาว่าทำไมคนทั่วไปถึงบอกว่าการลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในตราสารทุน แต่อันนี้จะหมายถึงความเสี่ยงในเรื่องของการได้รับเงินลงทุนคืนเท่านั้น…
แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับ SVB นั้นเป็นความเสี่ยงที่เกิดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของ FED ทำให้ตราสารหนี้ที่ SVB ถือไว้มีราคาตลาดลดลงอย่างมาก และเมื่อขายออกไปก็ขาดทุนอย่างมหาศาลจนทำให้ SVB ไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำมาคืนให้กับผู้ฝากเงินได้ เรียกว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate risk)
คือ ประมาณว่ารับเงินฝากจากประชาชนมา 1,000 บาท เอาเงินนี้ไปลงทุนแล้วปรากฏว่าเหลือ 700 บาท พอมีคนแห่มาถอนเงินฝากพร้อมๆกัน จึงไม่มีเงินเหลือพอที่จะคืนเงินผู้ฝากได้เลยล้มละลายไป
การที่ราคาตราสารหนี้ลดลงนี้อธิบายได้ว่า… สมมติคุณซื้อตราสารหนี้ A ที่ราคา 1,000 บาทและสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ย 3% หรือ 30 บาทต่อปี แต่ต่อมาทาง FED มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น เช่น จากระดับ 3% ไปเป็น 6% ต่อปี ทำให้นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้คาดหวังผลตอบแทนที่ 6% ต่อปี หรือถ้าจ่าย 1,000 บาท เขาจะต้องการดอกเบี้ย 60 บาทนั่นเอง…
แต่ตราสารหนี้ที่คุณไปซื้อมาราคา 1,000 บาทเท่ากันนั้นจ่ายดอกเบี้ยแค่ 30 บาท ซึ่งหากคุณคิดจะขายตราสารหนี้ A ทิ้งไปคุณจะไม่มีทางขายที่ราคาทุน 1,000 บาทที่ซื้อมาได้แน่นอน คงไม่มีใครเอาด้วย ดังนั้นถ้าอยากขายจริงๆ คุณก็ต้องลดราคาลงไปจนกว่าตราสารหนี้ A ของคุณจะให้ดอกเบี้ยใกล้เคียงกับในตลาดที่ 6% หมายถึง… คุณอาจต้องลดราคาลงเหลือ 500 บาท!!! เพราะหากเอาดอกเบี้ยที่จ่าย 30 บาทหาร 500 บาทแล้ว นี่คือ ผลตอบแทนในอัตรา 6% เท่ากับในตลาด… (ชีวิตจริงการคำนวณจะซับซ้อนกว่านี้ แต่น่าจะพอเห็นภาพนะครับว่าเกิดอะไรขึ้น) และนี่ละครับ คือ กรณีที่เกิดขึ้นกับ SVB ซึ่งขาดทุนย่อยยับจากการซื้อตราสารหนี้ชั้นดี แต่โดน FED รีบขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจนราคาตราสารหนี้ร่วงลงอย่างรุนแรง…
อันที่จริงปัญหานี้สามารถแก้ไขได้นะครับ คือ ถ้า SVB สามารถทนถือตราสารหนี้ได้จนครบอายุ ในที่สุดหากผู้ออกตราสารหนี้ไม่เจ๊ง SVB จะได้รับเงินลงทุนคืนที่ราคาพาร์ คือ ไม่ขาดทุน แต่ในสถานการณ์จริง SVB ไม่สามารถรอได้เพราะพอคนรู้ข่าวว่าตราสารหนี้ที่ไปลงทุนมีการขาดทุนอย่างมาก คนก็ยิ่งกลัวและรีบมาแห่กันถอนเงิน และทำให้ SVB ก็ต้องรีบขายตราสารหนี้เพื่อเอาเงินสดกลับมา และเมื่อเงินสดไม่พอกับเงินที่คนมาถอน ก็ทำให้ล้มละลายในที่สุด…
Facebook : Three Six O Academy ทรี ซิกส์ โอ อะคาเดมี
Youtube : ThreeSixO Academy # Browse your Opportunities
Line OA : @ThreeSixOAcademy
Twitter : 360AcademyTH
Tel : 063-9876593