หากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นของ Credit Suisse (CS) จะพบว่าเมื่อต้นปี 2565 ราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ $10 แต่ ณ วันที่ 22 มีนาคม 2566 ราคาหุ้น CS ซึ่งผ่านการ takeover โดย UBS มาแล้วอยู่ที่ประมาณ $1 !!! หรือลดลงมาถึง 90% ในเวลาเพียงแค่ 1 ปีเศษเท่านั้น !?!? เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารอย่าง Credit Suisse วันนี้จะมาสรุปภาพรวมให้ฟังกันครับ
ธนาคาร Credit Suisse ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2399 ถ้านับอายุตอนนี้ก็คือประมาณ 166 ปี เป็นธนาคารที่ให้บริการแบบครบวงจรและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสวิสเซอร์แลนด์รองจาก UBS และยังถือเป็นธนาคารชั้นนำของยุโรปและของโลกแห่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา Credit Suisse ก็ขึ้นชื่อในเรื่องของความอื้อฉาวจากการบริหารงานภายในที่มีเรื่องปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นและความไม่โปร่งใสหลายกรณี ทำให้ทั้่งลงทุนผิดพลาดและมีโดนค่าปรับจำนวนมากจนเป็นเหตุให้มีขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมากและผ่านการเพิ่มทุนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งธนาคารแห่งชาติของสวิสเซอร์แลนด์ (SNB: Swiss National Bank) ก็ได้พยายามติดตามและช่วยเหลือมาโดยตลอดเพราะธนาคารอย่าง Credit Suisse นั้นเข้าข่าย too big too fell คือ ไม่มีทางที่ปล่อยให้ล้มได้อย่างเด็ดขาด เพราะผลกระทบจะเป็นอภิมหาสึนามิแห่งโลกการเงินอย่างแน่นอน
อันที่จริงช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 สถานการณ์ของ Credit Suisse เหมือนจะเริ่มดีขึ้นบ้าง คือ ราคาหุ้น CS เริ่มมีการดีดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากมีข่าวการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank… แต่พอมีข่าวการล้มละลายของ SVB และธนาคารขนาดเล็กของสหรัฐอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นเหมือนการจุดชนวนของความกังวลต่อวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ ทำให้สุดท้ายแล้ว Saudi National Bank ก็ออกมาปฏิเสธข่าวเรื่องการเพิ่มทุน และนักลงทุนที่กังวลต่อสถานการณ์ก็พากันเทขายหุ้นและหุ้นกู้ CS อีกครั้งทำให้ราคากลับมาร่วงลงอย่างมาก จนทาง SNB ต้องยื่นให้ความช่วยเหลือและนำมาสู่ deal การ takeover กิจการโดย UBS ซึ่งถือเป็นการ takeover ครั้งใหญ่แต่รวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการเงินโลกโดยทีเดียว
แต่หนึ่งในเรื่องที่คนพูดถึงกันมากที่สุดจากการ takeover ครั้งนี้ คือ เรื่องของหุ้นกู้ชนิดพิเศษมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาทที่ถูกตัดเป็นหนี้สูญเต็มจำนวนจาก deal นี้ ซึ่งเรียกว่า หุ้นกู้ AT1 หรือ Contingent Covertible bonds: CoCo Bond ที่คนไทยเรามักจะเรียกกันว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์
คือถ้าเป็นหุ้นกู้ปกติจะมีความเสี่ยงในการลงทุนที่น้อยกว่าตราสารทุนเพราะในกรณีที่กิจการล้มละลาย บริษัทจะต้องนำเอาทรัพย์สินไปขายทอดตลาดและคืนเงินให้ผู้ถือหุ้นกู้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญที่เป็นตราสารทุน แต่หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์นั้นมีความแตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปตรงที่…
ไม่มีกำหนดในการคืนเงินต้น โดยมักจะจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเพื่อชดเชยให้ผู้ลงทุนที่ต้องถือนาน และที่สำคัญ คือ..
เป็นตราสารหนี้ที่จะถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ หรือ อาจถูกตัดหนี้สูญทั้งจำนวน (write-off) หรือบางส่วน (write-down) เมื่อเกิด trigger event
ซึ่ง Trigger event หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนระหว่างการตัดสินใจให้ตัดตราสารดังกล่าวเป็นหนี้สูญและการตัดสินใจให้ความช่วยเหลือโดยภาครัฐในการอัดฉีดเงินทุนหรือวิธีการอื่นใด ซึ่งหากไม่ดำเนินการแล้วจะส่งผลให้สถาบันการเงินไม่สามารถอยู่รอดได้… ซึ่งกรณีของ Credit Suisse ก็เข้าข่ายนี้เต็มๆ และนำไปสู่การตัดหุ้นกู้นี้เป็นหนี้สูญทั้งจำนวน
นั่นก็ทำให้กลายเป็นว่า สำหรับผู้ที่ถือหุ้นกู้ประเภทนี้ของ Credit Suisse จะขาดทุน 100% ขณะที่ผู้ถือหุ้นสามัญยังมีมูลค่าเหลืออยู่เพราะจะสามารถนำหุ้น CS ไปแลกเป็นหุ้น UBS ได้แม้ว่าราคาจะลดลงมาก…
ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกๆในโลกการเงินที่ผู้ถือตราสารหนี้กลับเจ๊งมากกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ ซึ่งแม้ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีจำนวนไม่มากเพราะเป็นนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั้งนั้น แต่นี่ก็คือการบอกว่า ในโลกการเงินล้วนนั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน… การมีความรู้และมีที่ปรึกษาการลงทุนที่ดีรวมทั้งกระจายความเสี่ยงในการลงทุนอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นักลงทุนทุกคนต้องตระหนักไว้ครับ
Facebook : Three Six O Academy ทรี ซิกส์ โอ อะคาเดมี
Youtube : ThreeSixO Academy # Browse your Opportunities
Line OA : @ThreeSixOAcademy
Twitter : 360AcademyTH
Tel : 063-9876593